เดือน 1 หรือเดือนอ้าย บุญเข้ากรรม

ตกฤดูเดือนอ้ายปลายลมมาสิหนาวหน่วง ตกหว่างช่วงสังโฆเจ้าเพิ่นเข้ากรรม

เฮามาพากันค้ำทำบุญตักบาตร ปริวาสซ่อยหยู้ซูค้ำศาสนา…

ฮีตหนึ่งนั้น เถิงเดือนเจียง เข้ากลายมาแถมถ่ายฝูงหมู่สังฆเจ้าก็เตรียมเข้าอยู่กรรม

มันหาธรรมเนียมนี้ถือมาตั้งแต่ก่อน อย่าได้ละห่างเว้นเข็ญ

(บาปเข็ญ คือ สิ่งที่ไม่ดีไม่งาม ความชั่วร้าย ไม่เป็นมงคล) สิข่องแล่นนำ แท้แหล่ว

คำกล่าวด้านบนเป็นส่วนหนึ่งของบทพญาที่กล่าวถึงบุญเข้ากรรม หรืองานบุญประจำเดือนอ้าย (คนอีสานเรียกว่า เดือนเจียง) ซึ่งเป็นเดือนแรกของปีที่ชาวอีสานจะต้องประกอบพิธีบุญ กันจนเป็นประเพณีซึ่งอาจจะเป็นข้างขึ้นหรือข้างแรมก็ได้ วันที่นิยม ทำเป็นส่วนมากคือวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เพราะเหตุกำหนดให้ทำในระหว่างเดือนเจียงจึง เรียกว่า บุญเดือนเจียง นิมนต์สังฆเจ้าเข้ากรรมฯ ชาวบ้านเลี้ยงผีแถนและผีต่าง ๆ

บุญเข้ากรรม เป็นกิจกรรมของสงฆ์ที่เรียกว่า “เข้าปริวาสกรรม” โดยให้พระภิกษุสงฆ์ที่ต้องอาบัติ (กระทำผิด) สังฆาทิเสสได้สารภาพต่อหน้าคณะสงฆ์เพื่อเป็นการฝึกจิตสำนึกถึงความบกพร่องของตน แล้วปรับตัวประพฤติตนให้ถูกต้องตามพระวินัย พิธีเข้าปริวาสกรรมกำหนดไว้ 9 ราตรี กำหนดให้พักอยู่ในสถานที่สงบ ไม่มีคนพลุกพล่าน ในบริเวณวัด โดยมีกุฏิชั่วคราวเป็นหลัง ๆ พระภิกษุสงฆ์เข้าปริวาสกรรมคราวหนึ่ง ๆ จะมีจำนวนเท่าใดก็ตาม แต่ต้องบอกพระภิกษุสงฆ์จำนวน 4 รูปไว้ก่อนว่าตนเองจะเข้ากรรม และเมื่อถึงเวลาออกกรรมจะมีพระสงฆ์ 20 รูป มารับออกกรรม เรียกว่า “สวดอัพภาณ” แปลว่า รับกลับเข้าพวก พิธีทำบุญเข้ากรรมไม่ถือว่าเป็นการล้างบาป แต่เป็นการปวารณาตนว่าจะไม่กระทำผิดอีก ส่วนกิจของชาวพุทธในบุญเข้ากรรมนั้นคือ การหาข้าวของเครื่องอุปโภค บริโภคถวายพระ เชื่อว่าจะได้บุญมากกว่าการทำบุญตักบาตรทั่วไป สิ่งที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพในเดือนอ้าย คือสุขภาพจิต การมองตนเองนำสิ่งที่ผิดพลาดมาปรับปรุงทำให้จิตสงบเป็นสุขสุขภาพกายจึงสัมพันธ์กับสุขภาพจิต ดังคำกล่าวที่ว่า “จิตสบาย กายเป็นสุข”