กลุ่มจังหวัดเลาะเรียบริมโขงฝั่งอีสาน

“ภาคอีสาน” หรือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นภูมิภาคหนึ่งในหกของประเทศไทย นอกจากภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคตะวันตก และภาคใต้ โดยภาคอีสานเป็นภูมิภาคที่มีพื้นที่มากที่สุดของประเทศไทย ประมาณ 168,854 ตารางกิโลเมตร หรือมีเนื้อที่ร้อยละ 33.17 เทียบได้กับหนี่งในสามของพื้นที่ทั้งหมดของประเทศไทย ประกอบด้วย 20 จังหวัด ได้แก่ กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ นครพนม นครราชสีมา บุรีรัมย์ มหาสารคาม มุกดาหาร ยโสธร ร้อยเอ็ด เลย ศรีสะเกษ สกลนคร สุรินทร์ หนองคาย หนองบัวลำภู อำนาจเจริญ อุดรธานี อุบลราชธานี และบึงกาฬ ดังแสดงในภาพด้านล่าง

ภาคอีสานมีลักษณะพื้นที่เป็นแอ่งกระทะ ถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วนตามตำแหน่งที่ตั้ง คือ แอ่งโคราช (บริเวณแถบลุ่มแม่น้ำชีและแม่น้ำมูล กินบริเวณ 3 ใน 4 ของภาคอีสานทั้งหมด) และแอ่งสกลนคร (บริเวณตอนเหนือของเทือกเขาภูพาน และบริเวณที่ราบลุ่มน้ำโขง) อยู่บริเวณอีสานตอนบนครอบคลุมพื้นที่ จังหวัดเลย หนองบัวลำภู อุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ สกลนคร นครพนม และมุกดาหาร ทิศเหนือจะมีแม่น้ำโขงกันขอบเขต ทิศตะวันตกกั้นด้วยเทือกเขาเพชรบูรณ์

–  แอ่งสกลนคร อยู่ทางตอนเหนือของภาคอีสาน ครอบคลุมเขตจังหวัดเลย อุดรธานี หนองบัวลำภู หนองคาย สกลนคร บึงกาฬ และนครพนม ตอนเหนือและตอนตะวันออกของแอ่งสกลนครมีแม่น้ำโขงเป็นขอบ ส่วนตอนใต้และตะวันตกมีเทือกเขาภูพาน ตัดผ่านแบ่งกั้นแอ่งสกลนครออกจากแอ่งโคราช ลำน้ำส่วนใหญ่จะไหลจากที่สูงในเขตเทือกเขาภูพานลงมาทางเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือไปออกแม่น้ำโขง ลำน้ำสำคัญ ๆ ได้แก่ ลำน้ำโขง ลำน้ำห้วยหลวง ลำน้ำสงคราม ลำน้ำก่ำ และลำน้ำพุง

–  แอ่งโคราช อยู่ทางตอนใต้ของภาคอีสาน มีขนาดแอ่งใหญ่กว่าแอ่งสกลนคร และมีลักษณะเป็นแอ่งกระทะ คือ มีบริเวณที่สูงเป็นขอบอยู่โดยรอบแล้วค่อย ๆ ลาดลงสู่ที่ลุ่มต่ำ น้ำท่วมถึงในบริเวณตอนกลางซึ่งทอดเป็นแนวยาวทางตะวันตกเฉียงใต้ทอดตามแม่น้ำมูล ไปทางตะวันออกเฉียงเหนือไปออกแม่น้ำโขงเขตจังหวัดอุบลราชธานี ลำน้ำสำคัญที่อำนวยความอุดมสมบูรณ์ให้แก่แอ่งโคราช คือ แม่น้ำชี และแม่น้ำมูล ไหลมาจากเทือกเขาและที่สูงทางตะวันตกของแอ่งโคราช

ภาคอีสานมีอาณาบริเวณฝั่ง “ทิศตะวันตก” ติดกับเทือกเขาเพชรบูรณ์และเทือกเขาดงพญาเย็นเป็นแนวกั้นระหว่างภาคอีสานให้แยกจากภาคกลาง ฝั่ง “ทิศใต้” ของภาคอีสานมีเทือกเขาพนมดงรักกั้นประเทศกัมพูชาและภาคตะวันออกของประเทศไทย ฝั่ง “ทิศเหนือ” และ “ทิศตะวันออก” ของภาคติดแม่น้ำโขงซึ่งเป็นแม่น้ำสายหลักที่กั้นเขตแดนระหว่างประเทศไทยกับประเทศลาวที่หล่อเลี้ยงชีวิตริมสองฝั่งแม่น้ำที่มีต้นกำเนิดมาจากเทือกเขาเหน็บหนาวบนเขตที่ราบสูงทิเบต หยดน้ำหยดแล้วหยดเล่าละลายจากหิมะมาผสมกับสายน้ำจากฟากฟ้าและผืนแผ่นดินรวบรวมกันจนกลายเป็นต้นกำเนิดสายนทีอันยิ่งใหญ่ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อีกทั้งยังเป็นเส้นทางของการกระจายวัฒนธรรมต่าง ๆ ในอดีตจนถึงปัจจุบันพาดผ่านจังหวัดเลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี ก่อเกิดแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาติที่งดงามและน่าสนใจหลากหลายรูปแบบ อุดมสมบูรณ์ด้วยป่าเขา ภูผาหินมากมายเป็นน้ำตกยามหน้าฝน มีจุดชมวิวตระการตา ก่อให้เกิดความงดงามที่แตกต่างกันในแต่ละห้วงเวลาของฤดูกาล ยามหน้าฝนน้ำหลากสีปูนน้ำตาลอมแดง ส่วนสองฝากฝั่งเขียวขจีสดชื่น ยามหน้าแล้งน้ำลดระดับเผยให้เป็นแก่งหิน หาดหินทรายอันน่าอัศจรรย์มากมาย ระหว่างสองฤดูกาลนี้ระดับน้ำจะแตกต่างกันถึง 14 เมตร ขณะที่ฤดูหนาว สายหมอกจะลอยระเรี่ยคลุมห่มสายน้ำให้ความสดชื่นอีกบรรยากาศ การท่องเที่ยวตามเส้นทางริมฝั่งแม่น้ำโขงจึงเต็มไปด้วยมนต์เสน่ห์ที่จะทำให้ผู้มาท่องเที่ยวประทับใจกับวิถีชีวิตผู้คนริมสองฝั่งที่ผูกพันกับสายน้ำอย่างลึกซึ้งจนเกิดเป็นสะพานมิตรภาพ ไทย-ลาว ที่เชื่อมความสัมพันธ์แห่งความเป็นบ้านพี่เมืองน้องให้แน่นแฟ้นทั้งการค้า วัฒนธรรม ตลอดจนการท่องเที่ยวที่มีกันมาอย่างยาวนาน

จากอาณาเขตที่กว้างใหญ่ไพศาลทำให้ภาคอีสานมีแหล่งท่องเที่ยวที่หลากหลายน่าสนใจ ทั้งการท่องเที่ยวธรรมชาติ แบบการเดินป่า ล่องแก่ง ศึกษาธรรมชาติ ดูนก หรือจะเที่ยวเพื่อการชื่นชมความงามในศิลปะวัฒนธรรมของท้องถิ่น ศึกษาประวัติศาสตร์จากแหล่งอารยธรรมเก่าแก่ และโบราณสถาน กระทั่งเมื่อปีพ.ศ. 2560 สำนักข่าว CNN ได้จัดให้ภาคอีสานของไทยติด 1 ใน 17 สถานที่ท่องเที่ยวทรงคุณค่าที่ควรไปเยี่ยมเยือน โดยบอกว่า “หากใครที่กำลังมองหาชิ้นส่วนความเป็นไทย ที่ยังไม่เป็นที่รู้จักในตลาดท่องเที่ยวนานาชาตินั้น ควรจะมุ่งหน้าไปยังภาคอีสาน ภูมิภาคขนาดใหญ่ของไทย ที่นอกจากจะมีโครงสร้างพื้นฐานที่ดีแล้ว ยังมีสนามบินในประเทศหลายแห่ง และโรงแรมชั้นดีให้เลือกสรรเพียบ หากมีเวลาน้อยที่จะท่องเที่ยว ทาง CNN ได้แนะนำให้ไปเยือนสถานที่มรดกทางวัฒนธรรม เช่น ปราสาทหินในจังหวัดบุรีรัมย์ รวมถึง แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี แหล่งอารยธรรมเก่าแก่อายุกว่า 5,000 ปี ซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม โดยองค์การยูเนสโก เมื่อปี 2535

นอกจากเสน่ห์ทางด้านภูมิประเทศ แหล่งท่องเที่ยวแล้ว ภาคอีสานยังมีความหลากหลายในเรื่องของภาษาที่มาจากความผสมผสานของผู้คนจากหลายหลายชาติพันธ์ โดยภาษาหลักของภาคนี้ คือ “ภาษาอีสาน” ซึ่งเป็นภาษาอีสานสำเนียงหนึ่งทางฝั่งขวาแม่น้ำโขง ส่วนภาษาไทยนิยมใช้กันทั่วไปโดยเฉพาะในเมืองใหญ่และจังหวัดนครราชสีมาแต่ไม่ถือเป็นภาษาหลัก ขณะเดียวกันยังมีภาษาเขมรที่ใช้กันมากในบริเวณอีสานใต้ นอกจากนี้ มีภาษาถิ่นอื่น ๆ อีกมาก เช่น ภาษาผู้ไท ภาษาโส้ ภาษาไทโคราช ภาษากวย (ส่วย) ภาษาแสก ภาษาข่า ภาษากะเลิง ภาษาโย้ย ภาษาย้อ เป็นต้น ตามพื้นเพของชาวอีสานที่มาจากคนหลายกลุ่ม หลายชาติพันธุ์ มาตั้งบ้านเรือนอยู่ในพื้นที่ต่าง ๆ เช่น ชาวส่วย (กุย) ย้อ ผู้ไทย ชาวโซ้ ไทยโคราช เป็นต้น ทำให้ภาคอีสานมีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมและประเพณีที่โดดเด่นและหลากหลายแตกต่างกันไปด้วยวิถีเฉพาะตัวในแต่ละท้องถิ่น แต่ละจังหวัด ทั้งด้านอาหาร ภาษา ดนตรีหมอลำ ดนตรีกันตรึม ดนตรีเจรียง และศิลปะการฟ้อนรำ การเซิ้ง ซึ่งศิลปวัฒนธรรมเหล่านี้บ่งบอกถึงความเชื่อ ค่านิยม ศาสนา รวมถึงสถานที่ศักดิ์สิทธ์จากหลายแหล่งในย่านลุ่มแม่น้ำโขง รูปแบบการดำเนินชีวิต ตลอดจนอาชีพของคนในแต่ละท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี

การท่องเที่ยวในภาคอีสานนั้นมีการเดินทางหลากหลายรูปแบบที่อำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยวจากสถานที่ต่าง ๆ ทั้งทางรถยนต์ส่วนตัวก็มีถนนหนทางที่ใหญ่และสวยงาม หากจะใช้บริการรถสาธารณะก็มีทั้งรถทัวร์ รถไฟ รถตู้ และเครื่องบิน ซึ่งภาคอีสานมีสนามบินทั้งหมด 8 แห่งในเมืองหลักของภาคประกอบด้วย ท่าอากาศยานนานาชาติอุดรธานี ท่าอากาศยานนานาชาติอุบลราชธานี ท่าอากาศยานขอนแก่น ท่าอากาศยานสกลนคร ท่าอากาศยานเลย ท่าอากาศยานร้อยเอ็ด ท่าอากาศยานบุรีรัมย์ และท่าอากาศยานนครพนม

Category :

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *