จังหวัดนครพนม

“พระธาตุพนมล้ำค่า วัฒนธรรมหลากหลาย เรณูผู้ไท เรือไฟโสภา งามตาฝั่งโขง”

จังหวัดนครพนมตั้งอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนในแอ่งสกลนคร มีพื้นที่ประมาณ 5,502.670 ตารางกิโลเมตร ระยะทางห่างจากกรุงเทพมหานครประมาณ 740 กิโลเมตร นับเป็นจังหวัดชายแดนที่มีพัฒนาการด้านเศรษฐกิจ การค้า และการท่องเที่ยวอย่างชัดเจน ด้วยจุดเด่นที่มีความอุดมสมบูรณ์ ความสวยงามของวิวทิวทัศน์ มีอากาศดี มีความหลากหลายของวัฒนธรรมและชาติพันธุ์วรรณา รวมทั้งประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน มีพระธาตุพนมเป็นปูชนียสถานคู่บ้านคู่เมือง อีกทั้งยังเป็นจังหวัดที่อดีตผู้นำของเวียดนาม อย่างประธานาธิดีโฮจิมินห์ เคยลี้ภัยมาพำนักอยู่ถึง 7 ปี ก่อนจะกลับไปกู้ชาติจากฝรั่งเศสได้จนสำเร็จทำให้ชาวเวียดนามมีความผูกพันกับจังหวัดนครพนมมาจนถึงปัจจุบัน อีกทั้งยังมีชาวไทยเชื้อสายเวียดนามที่อาศัยอยู่ในจังหวัดนครพนม อีกเป็นจำนวนมาก นับเป็นตัวชี้วัดความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่าง 2 ประเทศได้อย่างชัดเจน พื้นที่ด้านเหนือและตะวันออกของจังหวัดติดเลียบชายฝั่งขวาของแม่น้ำโขง ตรงข้ามกับเมืองท่าแขก แขวงคำม่วนของประเทศลาว

จังหวัดนครพนมเป็นจังหวัดที่มีบันทึกทางประวัติศาสตร์มาแต่โบราณกาล ในฐานะเมืองเก่าเคียงคู่อยู่กับอาณาจักรศรีโคตรบูร แต่เดิมนครพนมมีชื่อเต็มในจารึกสถาปนาวัดโอกาสศรีบัวบานว่า “เมืองนครบุรีราชธานีศรีโคตรบูรหลวง” เคยเป็นราชธานีที่มีกษัตริย์และเจ้าผู้ครองนครปกครองมาก่อนหลายสมัย เอกสารของล้านช้างส่วนใหญ่ออกนามว่า “เมืองละคร” หรือ “เมืองนคร” เดิมทีนั้นมีพื้นที่อยู่ทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงหรือเมืองเก่าท่าแขก ต่อมาได้ย้ายมาอยู่ฝั่งขวาที่เมืองเก่าหนองจันทน์ จากนั้นย้ายขึ้นไปทางตอนเหนือที่บ้านโพธิ์คำ คือตัวเมืองนครพนมในปัจจุบัน เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกตีเมืองนครเวียงจันทน์ได้แล้ว เจ้าเมืองนครพนมหรือ เมืองศรีโคตรบอง ได้ทูลเกล้าถวายต้นไม้เงินต้นไม้ทองแก่สยามในฐานะนครประเทศราช ชื่อของดินแดนนี้ได้ถูกเปลี่ยนนามเป็น “นครพนม” ด้วยคำว่า “พนม” นั้นหมายถึง ภูเขา คำว่านครพนม จึงน่าจะหมายถึง นครแห่งภูเขา จากข้อสันนิษฐานว่านามนี้มาจากนครพนมเป็นเมืองที่มีพื้นที่ติดต่อกับทิวเขามากมายทางฝั่งซ้าย หลังเสร็จสิ้นสงครามเจ้าอนุวงศ์แล้ว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ลดฐานะเมืองนครพนมเป็นหัวเมืองชั้นเอก ด้วยความเป็นอาณาจักรที่เคยเจริญรุ่งเรืองมาเก่าก่อน ประกอบกับแม่น้ำโขงเป็นแหล่งวัฒนธรรมของมนุษย์ชาติจากหลายชนเผ่า ดังนั้น นครพนมจึงมีโบราณสถานจำนวนมาก และมีวัฒนธรรมและประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์

ครั้นในปี พ.ศ. 2459 มีประกาศพระบรมราชโองการเรื่อง โอนอำเภอไชยบุรีไปขึ้นจังหวัดหนองคาย ลงวันที่ 22 มีนาคม 2459 มีความว่าทรงทราบฝ่าละอองธุรีพระบาทว่าอำเภอไชยบุรี ซึ่งเป็นอำเภอขึ้นจังหวัดนครพนมเวลานี้ (พ.ศ. 2459) มีท้องที่และระยะทางห่างไกลจากจังหวัดนครพนมมาก เป็นการลำบากแก่ราษฎรที่อยู่ในแขวงอำเภอไชยบุรี ผู้มีกิจสุขทุกข์จะมายังจังหวัดนครพนมและทั้งไม่เหมาะแก่การปกครอง จึงทรงพระราชดำริว่าสมควรจะโอนอำเภอไชยบุรี มาขึ้นจังหวัดหนองคาย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้โอนอำเภอไชยบุรีมาขึ้นจังหวัดหนองคาย ตั้งแต่บัดนี้ (พ.ศ. 2459) เป็นต้นไป (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 33 หน้า 320 – 321 ลงวันที่ 25 มีนาคม 2459) ในปี พ.ศ. 2525 รัฐบาลได้ออกพระราชบัญญัติจัดตั้งจังหวัดมุกดาหาร พ.ศ. 2525 โดยแยกอำเภอมุกดาหาร ออกจากจังหวัดนครพนม มาเป็นจังหวัดมุกดาหาร ตั้งแต่เมื่อวันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2525 ขึ้นเป็นจังหวัดที่ 73 ของประเทศไทย และเป็นจังหวัดที่ 17 ของภาคอีสาน

 

 

อาณาเขตที่ติดต่อกับจังหวัดนครพนมมีดังนี้

– ทิศเหนือ ติดต่อกับอำเภอเซกา จังหวัดหนองคาย และจังหวัดบึงกาฬ

– ทิศตะวันออก ติดต่อกับแขวงคำม่วน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว โดยมีแม่น้ำโขงเป็นแนวกั้นพรมแดน

– ทิศใต้ ติดต่อกับอำเภอดงหลวง และอำเภอหว้าใหญ่ จังหวัดมุกดาหาร

– ทิศตะวันตก ติดต่อกับอำเภอกุสุมาลย์ อำเภออากาศอำนวย และอำเภอเมืองสกลนคร จังหวัดสกลนคร

 

การเดินทางจังหวัดนครพนม

 

การเดินทางจากกรุงเทพมหานครไปยังจังหวัดนครพนมสามารถเดินทางไปได้ทั้งทางรถยนต์ รถโดยสารประจำทาง และเครื่องบิน ส่วนทางรถไฟนั้นคาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปี พ.ศ. 2568

  1. รถยนต์ จากกรุงเทพมหานคร ใช้ทางหลวงหมายเลข 1 (พหลโยธิน) จนถึงจังหวัดสระบุรี บริเวณหลักกิโลเมตรที่ 107 แยกขวา เข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 2 (มิตรภาพ) ผ่านจังหวัดนครราชสีมา จนถึงอำเภอบ้านไผ่ แยกขวาเข้าสู่ทางหลวง หมายเลข 23 ไปจนถึงจังหวัดมหาสารคาม แล้วแยกใช้ทางหลวงหมายเลข 213 ผ่านจังหวัดกาฬสินธุ์ จนถึง จังหวัดสกลนคร แล้วใช้ทางหลวงหมายเลข 22 ต่อไปจนถึงจังหวัดนครพนม รวมระยะทางประมาณ 740 กิโลเมตร
  2. รถโดยสารประจำทาง มีรถโดยสารธรรมดาและรถโดยสารปรับอากาศสายกรุงเทพมหานคร-นครพนม ให้บริการทั้งของบริษัทเอกชน และบริษัท ขนส่ง จำกัด รถโดยสารออกจากสถานีขนส่ง สายเหนือ (หมอชิต 2) ถนนกำแพงเพชร 2 ทุกวัน วันละหลายเที่ยว ใช้เวลาเดินทางประมาณ 11 ชั่วโมง
  3. เครื่องบิน การเดินทางโดยเครื่องบินใช้เวลาเพียงหนึ่งชั่วโมง สายการบินราคาประหยัดมีทั้ง Thai Air Asia และ Nok Air เปิดให้บริการเที่ยวบินจากจังหวัดกรุงเทพมหานครไปจังหวัดนครพนมทุกวัน โดยสำนักงานขนส่งจังหวัดนครพนมได้ร่วมกับท่าอากาศยานนครพนมจัดให้มีบริการรถโดยสารประจำทาง (รถโดยสาร 2 แถว) ระหว่างท่าอากาศยานนครพนมกับสถานีขนส่งจังหวัดนครพนมขึ้น และเริ่มให้บริการตั้งแต่วันที่ 16 สิงหาคม 2561 เป็นต้นไป ซึ่งอัตราค่าบริการจะอยู่ที่ 15 บาทตลอดสาย
  4. รถไฟ ขณะนี้ยังไม่มีบริการเดินทางโดยรถไฟตรงไปถึงจังหวัดนครพนม แต่มีรถด่วน รถเร็ว และรถด่วนพิเศษสปรินเตอร์ กรุงเทพมหานคร-อุบลราชธานี ทุกวัน จากนั้นต่อรถโดยสารจากจังหวัดอุบลราชธานีไปยังจังหวัดมุกดาหาร ระยะทางประมาณ 167 กิโลเมตร วันละ 3 เที่ยว อย่างไรก็ดีการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) อยู่ระหว่างดำเนินโครงการก่อสร้างทางรถไฟ สายบ้านไผ่ – มหาสารคาม – ร้อยเอ็ด – มุกดาหาร – นครพนม ระยะทาง 355 กม. ซึ่งคาดว่าจะสามารถเริ่มการก่อสร้างในเดือนมกราคม 2564 แล้วเสร็จในเดือนธันวาคม 2567 สามารถเปิดให้บริการประชาชนได้ในเดือนมกราคม 2568
Category :

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *