ก้อยปลาซิว

ก้อยปลาซิว ส่วนประกอบได้แก่ ปลาซิว น้ำมะนาว ข้าวคั่ว น้ำปลา น้ำปลาร้า ต้นหอมซอย ผักหอมเป สะระแหน่ พริกป่น มดแดง และเกลือ โดยนำปลาซิวมาเด็ดหัวออก ทุบหรือตำให้แบนๆ แล้วนำมาคลุกเคล้ากับเกลือให้ตัวปลาซิวชา ใส่น้ำมะนาวหรือมดแดงคลุกกับปลาซิวให้เข้ากันดีคั้นบีบเอาน้ำออกจนปลาซิวขาว ใส่พริกป่น ข้าวคั่ว หอมซอย คลุกเคล้าให้เข้ากัน ปรุงรสด้วยน้ำปลา น้ำปลาร้า และน้ำมะนาว รับประทานกับใบผักเม็กอ่อน ใบกระโดนอ่อน ใบมะม่วงหิมพานต์ ใบมะกอก จังหวัดบึงกาฬมีสินค้าพื้นเมืองหลากหลายชนิด เช่น ปลาร้าข้าวคั่ว บ้านเซกาเหนือ ตำบลเซกา ผ้าขาวม้า ตำบลหอคา อำเภอเมืองบึงกาฬ ผ้าพันคอ อำเภอพรเจริญ  ผ้าสไบ อำเภอบึงโขงหลง  และกระเทียมดอง อำเภอเมืองบึงกาฬ เป็นต้น

วัดเจติยาคีรีวิหาร (วัดภูทอก)

วัดเจติยาคีรีวิหาร (วัดภูทอก) หรือภูทอกน้อย ตำบลนาสะแบง อำเภอศรีวิไล เป็นจุดเริ่มต้นการเดินเท้าขึ้นสู่ยอดภูทอก โดยต้องเดินไปตามสะพานไม้เวียนรอบเขาสูงชันจนถึงยอดสะพานไม้สร้างขึ้นด้วยแรงศรัทธาของพระ สามเณรและชาวบ้าน เริ่มก่อสร้าง เมื่อ พ.ศ. 2512 ใช้เวลานานถึง 5 ปี บันไดที่ขึ้นสู่ยอดภูทอกนี้เปรียบ เสมือนเส้นทางธรรมที่น้อมนำสัตบุรุษให้หลุดพ้นด้วยความเพียรพยายามและมุ่งมั่น ภูทอกยังเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมและปฏิบัติศาสนกิจของชุมชน

วัดโพธาราม (วัดหลวงพ่อพระใหญ่)

วัดโพธาราม (วัดหลวงพ่อพระใหญ่) ตั้งอยู่ หมู่ที่ 5 บ้านท่าไคร้ ตำบลบึงกาฬ อำเภอเมืองบึงกาฬ เป็นที่ประดิษฐานหลวงพ่อพระใหญ่ พระพุทธรูปปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 5 ฟุต 4 นิ้ว ประดิษฐานบนแท่นสี่เหลี่ยม เป็นพระประธานในพระอุโบสถ ซึ่งได้บูรณะขึ้นใหม่เมื่อ พ.ศ. 2537 มีการสมโภชหลวงพ่อพระใหญ่ปีละ 2 ครั้ง คือประเพณีบุญเดือน 3 หรือบุญข้าวจี่ จะมีการถวายปราสาทผึ้ง และในสัปดาห์หลังเทศกาลสงกรานต์ จะเป็นประเพณีสรงน้ำหลวงพ่อพระใหญ่ ในพระอุโบสถ อนุญาตให้ผู้ชายสามารถเข้าไปกราบไหว้หลวงพ่อพระใหญ่ได้ ส่วนผู้หญิงให้กราบไหว้ได้เฉพาะบริเวณหน้าพระอุโบสถ  

วัดบุพพราชสโมสร

วัดบุพพราชสโมสร ตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขง ถนนชาญสินธุ์ ตำบลบึงกาฬ อำเภอเมืองบึงกาฬ เดิมชื่อ “วัดศรีมงคล” ชาวบ้านเรียก “วัดกลาง” ต่อมาในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้เปลี่ยนชื่อเป็นวัด “บุพพราชสโมสร” มีเจ้าคณะอำเภอเมืองบึงกาฬเป็นเจ้าอาวาสวัด พระประธานในพระอุโบสถคือ หลวงพ่อวัดกลาง เป็นพระพุทธรูปโบราณก่ออิฐถือปูน ศิลปะล้านช้าง หน้าตักกว้าง 59 นิ้ว เป็นที่เคารพเลื่อมใสศรัทธาของชาวบึงกาฬ

ศาลเจ้าแม่สองนาง

ศาลเจ้าแม่สองนาง ตั้งอยู่บนถนนเจ้าแม่สองนางหน้าโรงพยาบาลบึงกาฬ อำเภอเมืองบึงกาฬ โดยปกติประชาชนที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำโขงจะเสียชีวิตในลำน้ำโขงปีละหลายคน ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นการกระทำของเทพเจ้าทางน้ำ ชาวบ้านจึงจัดพิธีบวงสรวงเจ้าแม่สองนางเพื่อความเป็นสิริมงคลและคุ้มครองผู้ที่ประกอบอาชีพทางน้ำรอดพ้นจากภัยอันตราย มีพิธีบวงสรวงใหญ่ในช่วงเดือน 6 ของทุกปี

งานบุญผะเหวด อำเภอพรเจริญ

งานบุญผะเหวด อำเภอพรเจริญ (ประเพณีแห่ผ้าผะเหวดยาวที่สุดในโลก) จัดขึ้นในช่วงเดือนมีนาคมของทุกปี ณ วัดเทพนิมิต หมู่ที่ 2 ตำบลพรเจริญ จุดเด่นของงานอยู่ที่ขบวนแห่ผ้าผะเหวด เล่าเรื่องราวทางพระพุทธศาสนาที่มีความยาวถึง 200 เมตร การนมัสการหลวงพ่อมงคลเทพนิมิต ซึ่งเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์เก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองมานาน นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมที่น่าสนใจ เช่น การแข่งขันมวยคาดเชือกสี่แผ่นดิน และมหรสพต่าง ๆ

งานกาชาดและงานวันยางพารา

งานกาชาดและงานวันยางพารา งานประจำปีที่จัดขึ้นในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี บริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอเมืองบึงกาฬ เนื่องจากบึงกาฬเป็นจังหวัดที่มีการปลูกยางพารามากเป็นอันดับ 1 ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทางจังหวัดจึงได้จัดงานวันยางพาราผนวกรวมกับงานกาชาดของจังหวัดภายในงานได้ระดมองค์ความรู้เกี่ยวกับยางพาราผ่านนิทรรศการ มีการแลกเปลี่ยนความรู้เรื่องยางพารามีกิจกรรมจับสลากมัจฉากาชาด การจำหน่ายสินค้าราคาถูกมากมาย

บึงกาฬ-หนองคาย

เส้นทางที่ 1 บึงกาฬ-หนองคาย เริ่มต้นเส้นทางการท่องเที่ยวในจังหวัดสุดปลายอีสาน จังหวัดที่ 77 ของไทย จังหวัดเงียบ ๆ เล็ก ๆ อีกหนึ่งจังหวัดน่าเที่ยวอีกแห่งหนึ่งของภาคอีสานที่สามารถเดินทางจากกรุงเทพมหานครได้ด้วยรถประจำทาง และเครื่องบิน โดยลงที่สนามบินอุดรธานี แล้วต่อรถมายังจังหวัดบึงกาฬ โดยเส้นทางการท่องเที่ยวเริ่มจากการเดินเท้าที่ ภูทอก ในบริเวณนี้เป็นที่ตั้งของ วัดเจติยาคีรีวิหาร (วัดภูทอก) ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของการเดินเท้าเพื่อขึ้นไปสู่ยอดภูทอก มีทั้งหมด 7 ชั้นด้วยกัน โดยนักท่องเที่ยวจะต้องเดินเท้าด้วยการขึ้นบันไดไม้ที่ถูกสร้างขึ้นด้วยแรงศรัทธาของพระ เณรและชาวบ้าน ที่ใช้เวลาก่อสร้างถึง 5 ปี จากนั้นจึงไปเยือน วัดอาฮงศิลาวาส ที่นับเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญแห่งหนึ่งในจังหวัดบึงกาฬ  ด้วยวิวทิวทัศน์ที่สวยงาม พื้นที่ติดกับแม่น้ำโขงเป็นแนวโค้งยาวประกอบกับมีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาเกี่ยวกับความเชื่อเรื่องพญานาค มีความเชื่อกันว่าบริเวณหน้าวัด คือ จุดที่ลึกที่สุดของแม่น้ำโขงซึ่งมีความลึก 200 เมตร บริเวณนี้จะมีน้ำจะไหลเชี่ยววนจนเป็นหลุมรูปกรวย หากมีพวกเศษไม้ ใบไม้หรือวัตถุเล็กๆ ติดอยู่จะถูกกระแสน้ำหมุนวนเป็นรูปกรวยประมาณ 20-30 นาที แล้วจึงหลุดเคลื่อนไปในที่อื่น เมื่อมีกระแสน้ำไหลเชี่ยวมาอีกก็จะต่อตัวเป็นรูปกรวยขึ้นมาใหม่เกิดสลับกันไปตลอดทั้งวัน จึงทำให้เชื่อว่าที่นี่คือ จุดที่เป็น สะดือแม่น้ำโขง ในช่วงเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคมของทุกปี สามารถมองเห็นแก่งอาฮง แก่งหินกลางลำน้ำโขงปรากาฎขึ้นมาเหนือน้ำ กลุ่มหินมีชื่อเรียกตามลักษณะของหิน เช่น หินลิ้น นาค หินปลาเข้…

พระธาตุหล้าหนอง

พระธาตุหล้าหนอง หรือ พระธาตุกลางน้ำ อยู่ตำบลหาดคำ อำเภอเมืองหนองคาย เป็นพระธาตุเก่าแก่ จนถึง พ.ศ. 2390 องค์พระธาตุถูกน้ำกัดเซาะพังทลายลงสู่แม่น้ำโขงห่างจากฝั่งประมาณ 200 เมตร ภายในองค์พระธาตุประดิษฐานพระบรมธาตุฝ่าพระบาทเก้าพระองค์ตามตำนานอุรังคธาตุ (พระธาตุพนม) จากการสำรวจใต้น้ำของหน่วยโบราณคดี สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างในราวพุทธศตวรรษที่ 20-22 เนื่องจากมีรูปร่างคล้ายพระธาตุ   บังพวน ปัจจุบันได้มีการสร้างพระธาตุหล้าหนองหรือพระธาตุกลางน้ำ (จำลอง) ขึ้น ด้านในขององค์พระธาตุหล้าหนอง เป็นที่ประดิษฐานสุวรรณฉัตรเจ็ดยอด

ลาบปลาเผาะ

ลาบปลาเผาะ ปลาเผาะ เป็นชื่อปลาที่นิยมเรียกกันในแถบภาคอีสานจังหวัดติดแม่น้ำโขง ในภาคกลางและภาคเหนือ เรียกว่า “ปลาโมง” เป็นปลาน้ำจืดของไทย เนื้อมีลักษณะใกล้เคียงกับปลาบึกแต่มีสีขาวกว่า ส่วนประกอบของลาบปลาเผาะ ได้แก่ ปลาเผาะ ข้าวคั่ว พริกป่น ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด หอมแดง ใบสะระแหน่ และน้ำปลา โดยนำปลาเผาะหั่นชิ้นพอคำ ตั้งหม้อน้ำร้อนใส่ข่าตะไคร้ ใบมะกรูดลงไปตอนน้ำเดือดจัด จากนั้นลวกปลาให้สุก ปรุงรสด้วยมะนาวน้ำปลาพริก ข้าวคั่ว น้ำปลา ข่าอ่อนหั่นฝอย ใบมะกรูด หอมแดง และใบสาระแหน่ไว้โรยหน้า รับประทานกับผักสด เช่น ผักแพว ยอดมะตูม ที่มา : http://www.truelife.com/localthaifood/