ประเพณีแข่งขันเรือยาว จัดขึ้นในช่วงเดือนกันยายนของทุกปี ซึ่งเป็นช่วงที่แม่น้ำโขงมีปริมาณน้ำมาก โดยจะแบ่งการแข่งขันออกเป็น 2 ประเภท คือ เรือยาว ประเภทท้องถิ่น ฝีพาย 46-55 ฝีพาย และเรือยาวเล็ก ฝีพาย 15-25 ฝีพาย ในแต่ละปีจะมีทีมเรือยาวเข้าร่วมการแข่งขันจำนวนมาก ทั้งมาจากต่างจังหวัด สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม
งานบุญผะเหวด อำเภอพรเจริญ
งานบุญผะเหวด อำเภอพรเจริญ (ประเพณีแห่ผ้าผะเหวดยาวที่สุดในโลก) จัดขึ้นในช่วงเดือนมีนาคมของทุกปี ณ วัดเทพนิมิต หมู่ที่ 2 ตำบลพรเจริญ จุดเด่นของงานอยู่ที่ขบวนแห่ผ้าผะเหวด เล่าเรื่องราวทางพระพุทธศาสนาที่มีความยาวถึง 200 เมตร การนมัสการหลวงพ่อมงคลเทพนิมิต ซึ่งเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์เก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองมานาน นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมที่น่าสนใจ เช่น การแข่งขันมวยคาดเชือกสี่แผ่นดิน และมหรสพต่าง ๆ
งานกาชาดและงานวันยางพารา
งานกาชาดและงานวันยางพารา งานประจำปีที่จัดขึ้นในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี บริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอเมืองบึงกาฬ เนื่องจากบึงกาฬเป็นจังหวัดที่มีการปลูกยางพารามากเป็นอันดับ 1 ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทางจังหวัดจึงได้จัดงานวันยางพาราผนวกรวมกับงานกาชาดของจังหวัดภายในงานได้ระดมองค์ความรู้เกี่ยวกับยางพาราผ่านนิทรรศการ มีการแลกเปลี่ยนความรู้เรื่องยางพารามีกิจกรรมจับสลากมัจฉากาชาด การจำหน่ายสินค้าราคาถูกมากมาย
เดือน 1 หรือเดือนอ้าย บุญเข้ากรรม
“ตกฤดูเดือนอ้ายปลายลมมาสิหนาวหน่วง ตกหว่างช่วงสังโฆเจ้าเพิ่นเข้ากรรม เฮามาพากันค้ำทำบุญตักบาตร ปริวาสซ่อยหยู้ซูค้ำศาสนา… ฮีตหนึ่งนั้น เถิงเดือนเจียง เข้ากลายมาแถมถ่ายฝูงหมู่สังฆเจ้าก็เตรียมเข้าอยู่กรรม มันหาธรรมเนียมนี้ถือมาตั้งแต่ก่อน อย่าได้ละห่างเว้นเข็ญ (บาปเข็ญ คือ สิ่งที่ไม่ดีไม่งาม ความชั่วร้าย ไม่เป็นมงคล) สิข่องแล่นนำ แท้แหล่ว” คำกล่าวด้านบนเป็นส่วนหนึ่งของบทพญาที่กล่าวถึงบุญเข้ากรรม หรืองานบุญประจำเดือนอ้าย (คนอีสานเรียกว่า เดือนเจียง) ซึ่งเป็นเดือนแรกของปีที่ชาวอีสานจะต้องประกอบพิธีบุญ กันจนเป็นประเพณีซึ่งอาจจะเป็นข้างขึ้นหรือข้างแรมก็ได้ วันที่นิยม ทำเป็นส่วนมากคือวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เพราะเหตุกำหนดให้ทำในระหว่างเดือนเจียงจึง เรียกว่า บุญเดือนเจียง นิมนต์สังฆเจ้าเข้ากรรมฯ ชาวบ้านเลี้ยงผีแถนและผีต่าง ๆ บุญเข้ากรรม เป็นกิจกรรมของสงฆ์ที่เรียกว่า “เข้าปริวาสกรรม” โดยให้พระภิกษุสงฆ์ที่ต้องอาบัติ (กระทำผิด) สังฆาทิเสสได้สารภาพต่อหน้าคณะสงฆ์เพื่อเป็นการฝึกจิตสำนึกถึงความบกพร่องของตน แล้วปรับตัวประพฤติตนให้ถูกต้องตามพระวินัย พิธีเข้าปริวาสกรรมกำหนดไว้ 9 ราตรี กำหนดให้พักอยู่ในสถานที่สงบ ไม่มีคนพลุกพล่าน ในบริเวณวัด โดยมีกุฏิชั่วคราวเป็นหลัง ๆ พระภิกษุสงฆ์เข้าปริวาสกรรมคราวหนึ่ง ๆ จะมีจำนวนเท่าใดก็ตาม แต่ต้องบอกพระภิกษุสงฆ์จำนวน 4 รูปไว้ก่อนว่าตนเองจะเข้ากรรม และเมื่อถึงเวลาออกกรรมจะมีพระสงฆ์ 20…