สามพันโบก

สามพันโบก ถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติเกาะแก่งที่เกิดการกัดเซาะของลำน้ำที่มีชื่อเสียงของจังหวัดอุบลราชานี  ตั้งอยู่บริเวณบ้านสองคอน อำเภอโพธิ์ไทร  โดยในช่วงหน้าแล้ง “สามพันโบก” จะโผล่พ้นน้ำให้เห็นคล้ายเป็นภูเขากลางลำน้ำโขง ความสวยงามวิจิตรของหินที่ถูกน้ำเซาะมองเห็นเป็นภาพศิลปะ บางแห่งใหญ่ขนาดเป็นสระว่ายน้ำ บางแอ่งขนาดเล็ก มีรูปร่างลักษณะที่แตกต่างกันออกไป (ตามแต่นักท่องเที่ยวจะจินตนาการ) สำหรับการไปเที่ยวสามพันโบก แนะนำว่าให้ไปเที่ยวช่วงเวลาประมาณ 06.00-09.00 น. และ 15.00-17.30 น. เพราะเป็นช่วงเวลาที่แดดร่มลมตก อากาศกำลังเย็นสบายเหมาะแก่การท่องเที่ยว ที่มีบรรยากาศสวย ๆ และภาพของพระอาทิตย์ขึ้นในช่วงเช้า และอาทิตย์อัสดงในช่วงเย็น

วัดเจติยาคีรีวิหาร (วัดภูทอก)

วัดเจติยาคีรีวิหาร (วัดภูทอก) หรือภูทอกน้อย ตำบลนาสะแบง อำเภอศรีวิไล เป็นจุดเริ่มต้นการเดินเท้าขึ้นสู่ยอดภูทอก โดยต้องเดินไปตามสะพานไม้เวียนรอบเขาสูงชันจนถึงยอดสะพานไม้สร้างขึ้นด้วยแรงศรัทธาของพระ สามเณรและชาวบ้าน เริ่มก่อสร้าง เมื่อ พ.ศ. 2512 ใช้เวลานานถึง 5 ปี บันไดที่ขึ้นสู่ยอดภูทอกนี้เปรียบ เสมือนเส้นทางธรรมที่น้อมนำสัตบุรุษให้หลุดพ้นด้วยความเพียรพยายามและมุ่งมั่น ภูทอกยังเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมและปฏิบัติศาสนกิจของชุมชน

วัดโพธาราม (วัดหลวงพ่อพระใหญ่)

วัดโพธาราม (วัดหลวงพ่อพระใหญ่) ตั้งอยู่ หมู่ที่ 5 บ้านท่าไคร้ ตำบลบึงกาฬ อำเภอเมืองบึงกาฬ เป็นที่ประดิษฐานหลวงพ่อพระใหญ่ พระพุทธรูปปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 5 ฟุต 4 นิ้ว ประดิษฐานบนแท่นสี่เหลี่ยม เป็นพระประธานในพระอุโบสถ ซึ่งได้บูรณะขึ้นใหม่เมื่อ พ.ศ. 2537 มีการสมโภชหลวงพ่อพระใหญ่ปีละ 2 ครั้ง คือประเพณีบุญเดือน 3 หรือบุญข้าวจี่ จะมีการถวายปราสาทผึ้ง และในสัปดาห์หลังเทศกาลสงกรานต์ จะเป็นประเพณีสรงน้ำหลวงพ่อพระใหญ่ ในพระอุโบสถ อนุญาตให้ผู้ชายสามารถเข้าไปกราบไหว้หลวงพ่อพระใหญ่ได้ ส่วนผู้หญิงให้กราบไหว้ได้เฉพาะบริเวณหน้าพระอุโบสถ  

วัดบุพพราชสโมสร

วัดบุพพราชสโมสร ตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขง ถนนชาญสินธุ์ ตำบลบึงกาฬ อำเภอเมืองบึงกาฬ เดิมชื่อ “วัดศรีมงคล” ชาวบ้านเรียก “วัดกลาง” ต่อมาในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้เปลี่ยนชื่อเป็นวัด “บุพพราชสโมสร” มีเจ้าคณะอำเภอเมืองบึงกาฬเป็นเจ้าอาวาสวัด พระประธานในพระอุโบสถคือ หลวงพ่อวัดกลาง เป็นพระพุทธรูปโบราณก่ออิฐถือปูน ศิลปะล้านช้าง หน้าตักกว้าง 59 นิ้ว เป็นที่เคารพเลื่อมใสศรัทธาของชาวบึงกาฬ

ศาลเจ้าแม่สองนาง

ศาลเจ้าแม่สองนาง ตั้งอยู่บนถนนเจ้าแม่สองนางหน้าโรงพยาบาลบึงกาฬ อำเภอเมืองบึงกาฬ โดยปกติประชาชนที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำโขงจะเสียชีวิตในลำน้ำโขงปีละหลายคน ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นการกระทำของเทพเจ้าทางน้ำ ชาวบ้านจึงจัดพิธีบวงสรวงเจ้าแม่สองนางเพื่อความเป็นสิริมงคลและคุ้มครองผู้ที่ประกอบอาชีพทางน้ำรอดพ้นจากภัยอันตราย มีพิธีบวงสรวงใหญ่ในช่วงเดือน 6 ของทุกปี

พระธาตุหล้าหนอง

พระธาตุหล้าหนอง หรือ พระธาตุกลางน้ำ อยู่ตำบลหาดคำ อำเภอเมืองหนองคาย เป็นพระธาตุเก่าแก่ จนถึง พ.ศ. 2390 องค์พระธาตุถูกน้ำกัดเซาะพังทลายลงสู่แม่น้ำโขงห่างจากฝั่งประมาณ 200 เมตร ภายในองค์พระธาตุประดิษฐานพระบรมธาตุฝ่าพระบาทเก้าพระองค์ตามตำนานอุรังคธาตุ (พระธาตุพนม) จากการสำรวจใต้น้ำของหน่วยโบราณคดี สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างในราวพุทธศตวรรษที่ 20-22 เนื่องจากมีรูปร่างคล้ายพระธาตุ   บังพวน ปัจจุบันได้มีการสร้างพระธาตุหล้าหนองหรือพระธาตุกลางน้ำ (จำลอง) ขึ้น ด้านในขององค์พระธาตุหล้าหนอง เป็นที่ประดิษฐานสุวรรณฉัตรเจ็ดยอด