สำรับอาหารกลุ่มมุสลิมในประเทศไทย เป็นวัฒนธรรมการกินที่ผสมผสานกลมกลืนกันระหว่างชาวไทยพุทธและชาวไทยมุสลิม ศาสนาอิสลามกำหนดกฎเกณฑ์ด้านอาหารสำหรับศาสนิก ความเชื่อทางศาสนานี้เอง จึงมีผลต่อการเลือกบริโภคอาหาร โดยเป็นที่เข้าใจกันว่าคนมุสลิมจะไม่รับประทานเนื้อหมู แต่เมื่อลงลึกถึงรายละเอียด จะมีกฎเกณฑ์อีกมากมาย เช่น อาหารจะต้องไม่มีส่วนผสมของเนื้อหมู น้ำมันหมู หรือผลิตภัณฑ์อื่นใดจากหมู เลือดสัตว์ทุกชนิด แมลงทุกชนิด สัตว์เลื้อยคลาน รวมถึงอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ดังนั้น เพื่อให้เกิดความเข้าใจ จึงมีการกำหนดเครื่องหมาย “ฮาลาล” (Halal) เพื่อให้คนต่างศาสนารับรู้ได้ทันทีเมื่อพบเห็น และยังเป็นตราสัญลักษณ์ที่ช่วยสร้างความมั่นใจให้กับผู้นับถือศาสนาอิสลามในการเลือกซื้ออาหารมารับประทาน นั่นจึงทำให้สัตว์ที่สามารถจะนำมาทำอาหารรับประทานได้ ประกอบด้วย วัว แพะ แกะ ไก่ เป็นต้น รวมถึงสัตว์น้ำอย่างกุ้ง หอย ปู ปลา และสัตว์ทะเลทุกชนิด นอกเหนือจากเนื้อสัตว์แล้ว วัตถุดิบเพื่อการบริโภคที่อยู่ในกลุ่มฮาลาล ยังมีอีกหลายประเภท เช่น ขนมปัง โรตี และข้าว
          คนไทยเราคุ้นเคยกับอาหารมุสลิมอย่างข้าวหมกไก่ โดยได้รับอิทธิพลมาจากครัวมุสลิมในตะวันออกกลาง จนปรากฏเป็น “ข้าวหุงปรุงอย่างเทศ” พระราชนิพนธ์กาพย์เห่เรือชมเครื่องคาวหวานในรัชกาลที่ 2 แขกเทศซึ่งหมายถึงเปอร์เซีย ล่วงมาถึงในสมัยรัชกาลที่ 5 ข้าวหุงปรุงอย่างเทศยังนิยมเป็นตำรับเครื่องต้นของพระกษัตริย์ หากแต่เรียกเพี้ยนเป็นข้าวบุหรี่ และปรากฏตำรับข้าวบุหรี่ในหนังสือตำราอาหารเล่มแรกของไทยอย่าง “แม่ครัวหัวป่าก์”
          ข้าวบุหรี่ (Kabuli) มักถูกหมายรวมว่าเป็นข้าวบริยานี (Biryani) กระบวนการหุงข้าวบุหรี่มีความแตกต่างจากข้าวบริยานี โดยข้าวบุหรี่เป็นคำที่เพี้ยนมาจากการหุงข้าวของชาวเปอร์เซียที่เรียกว่าปุเลา Pulao ที่วิธีการหุงที่ให้น้ำเข้าไปในเมล็ดข้าวที่เรียกว่า Simmer ซึ่งเป็นกระบวนการหุงข้าวแบบค่อย ๆ ซึมซับน้ำสตูเข้าไปในข้าว วิธีนี้ทำให้ข้าวบุหรี่มีรสชาติที่กลมกล่อม โดยเริ่มจากการปรุงสตูหรือซุปที่มีรสชาติเข้มข้น แล้วนำข้าวลงไปหุงในน้ำสตูนั้น ข้าวจะค่อย ๆ ดูดซึมน้ำและรสชาติจากสตูจนกระทั่งน้ำระเหยออกไปทั้งหมด ข้าวบุหรี่จึงมีรสชาติที่เข้มข้นและอร่อยจากการซึมซับรสชาติสตูตลอดกระบวนการหุง วิธีนี้ต่างจากการหุงข้าวบริยานีที่มักจะมีการดึงน้ำออกในขั้นตอนสุดท้าย ข้าวบุหรี่มีบทบาทสำคัญในสำรับอาหารในกลุ่มคนมุสลิม มักเสิร์ฟร่วมกับมัสมั่น และมักจะรับประทานคู่กับโรตี ขนมปัง หรือครัวซอง โดยมีอาจาดเป็นเครื่องเคียง นอกจากนี้มักจะมีผลไม้ตามฤดูกาลหรือสับปะรดลอยแก้วเพื่อเสริมรสชาติให้กับอาหารคาว ทำให้มื้ออาหารมีความสมดุลและน่าสนใจมากยิ่งขึ้น ในขณะที่ข้าวบริยานี (Biryani) อาจต้องมีการเทน้ำออกไปบ้างในการหุง
          ประเทศต้นกำเนิดของอาหารฮาลาลดังที่กล่าวมา มีสภาพภูมิประเทศเป็นทะเลทราย จึงรับประทานอาหารที่มีเนื้อสัตว์เป็นหลัก เช่น มัสมั่นไก่ เนื้อ หรือแกะ มีการใช้เครื่องเทศที่หลากหลายเข้มข้นและกลิ่นหอม ซึ่งเป็นเอกลักษณ์สำคัญของอาหารประเภทนี้ มัสมั่นเป็นอาหารที่ได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมของกลุ่มชาวทมิฬในอินเดียใต้ ก่อนจะเดินทางผ่านมลายูและลงมาสู่ภาคใต้ของไทย ความเป็นเอกลักษณ์ของมัสมั่นอยู่ที่การผสมผสานเครื่องเทศจากอินเดียกับสมุนไพรท้องถิ่นไทย เช่น ข่า ตะไคร้ และใบมะกรูด ทำให้รสชาติของมัสมั่นมีความจัดจ้านทั้งในเรื่องของความเผ็ด ความมัน และความหอมของเครื่องเทศ ปรากฏในกาพย์เห่เรือชมเครื่องคาวหวาน พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 2 ว่า “มัสมั่นแกงแก้วตา หอมยี่หร่ารสร้อนแรง” และยังได้รับฉายาว่าเป็น “ราชาแห่งเครื่องแกง” จนได้รับการจัดอันดับให้เป็นเมนูที่อร่อยที่สุดในโลกอยู่หลายสมัย นิยมเสิร์ฟคู่กับข้าวบุหรี่ โรตี หรือขนมปัง โดยมีอาจาดเป็นเครื่องเคียงที่ช่วยลดความเลี่ยนของแกงและเพิ่มรสเปรี้ยวสดชื่น
          อาจาด เป็นเครื่องเคียงที่มีบทบาทสำคัญในอาหารไทย โดยเฉพาะเมื่อเสิร์ฟคู่กับอาหารที่มีรสจัดหรือมัน ทำให้ช่วยลดความเลี่ยนของอาหารจานหลักได้เป็นอย่างดี อาจาดไม่ได้จำกัดเฉพาะการใช้แตงกวาและหอมแดง แต่สามารถดัดแปลงโดยการดองผักชนิดต่าง ๆ เพื่อสร้างรสชาติและกลิ่นที่หลากหลาย ผักที่เลือกใช้ขึ้นอยู่กับวัตถุดิบที่มีในท้องถิ่น คล้ายกับแนวคิดการดองผักในวัฒนธรรมมลายู โดยใช้ผักดองในน้ำส้มสายชู ใส่น้ำตาลและเกลือ ส่วนผสมเหล่านี้ช่วยดึงกลิ่นหอมของผักออกมา เป็นภูมิปัญญาดั้งเดิมที่ช่วยในการสร้างสรรค์และถนอมอาหาร