เป็นระเบียบที่สะท้อนสังคม
การกินอาหารแบบแบ่งปัน (Sharing Table หรือ Communal Table) มีอยู่ในประเทศแถบเอเชียซึ่งรวมถึงประเทศไทย คนไทยเรียกระเบียบวิธีตั้งโต๊ะอาหารและการกินแบบนี้ว่า “สำรับอาหาร” และเรียกสั้น ๆว่า “สำรับ” อย่างเข้าใจและเห็นภาพของผู้คนที่รวมกลุ่มร่วมกินอาหารพร้อมกัน
“สำรับ” เป็นแบบแผนที่มนุษย์สร้างขึ้นมาอย่างแยบยล การกินอะไรกับอะไร ทำอาหารอย่างไร แต่ละมื้อคือเวลาไหน ใครกินบ้าง กินและดื่มอย่างไร ล้วนเป็นวิถีที่มนุษย์สร้าง นอกจากกฎและระเบียบใด ๆ ทางสังคม ไม่ว่าจะเป็นด้านที่ผูกมากับศาสนา หรือด้านที่บังคับใช้เป็นกฎหมายอย่างปัจจุบัน สังคมยังมีความผูกพันและการพึ่งพาอาหารและการแบ่งปันเป็นกรอบและเส้นนำทางชีวิต กิจกรรมทางอาหารคือความพึ่งพาที่มนุษย์ต้องรวมกลุ่มกันอยู่เสมอ ทุกคนล้วนมีประสบการณ์นี้ครั้งแล้วครั้งเล่า ยกตัวอย่างผู้คนหลายคนในสังคมเมืองต้องกินอาหารวันละสามมื้อ ถ้าปราศจากคนอื่นทั้งที่อยู่ห่างไกลในนาข้าว ที่ตลาด ร้านอาหาร บนโต๊ะรับประทานร่วมกัน ผู้คนคงหิวโหยและมัวแต่วุ่นวายหาอาหารจนไม่ได้ทำงานอื่น
การตั้งโต๊ะอาหารที่พบเห็นมักจะมีอาหารออกมาหลายจานวางไว้ตรงกลางเพื่อการแบ่งปัน มีแค่ข้าวเท่านั้นที่อยู่ในจานใครจานมัน การออกแบบและจัดโต๊ะอาหารแบบนี้พบเห็นมากในอดีตหรือคนในต่างจังหวัดก็พอมีบ้าง การรวมกลุ่มทั้งยามยากและยามสุขเพราะชีวิตแบบที่เป็นอยู่ทำคนเดียวเหนื่อยยากและอาจไม่สำเร็จ(Collectivism) เป็นหัวใจในการขับเคลื่อนสังคมที่เห็นได้ชัดกว่ากับเกษตรกรรมมากกว่าสังคมเมือง บ้านไหนก็กินแบบสำรับไม่ว่ารวยหรือจน เมื่ออุตสาหกรรมและระบบทุนทำหน้าที่แทนระบบเกษตรกรรม ผู้คนต้องผลักตัวเองออกจากการเข้าถึงอาหารด้วยตนเองและกลุ่มพวกตนโดยเฉพาะการเกิดขึ้นของระบบเมือง ความเร่งรีบและแรงผลักดันจากทุนใหญ่ทำให้ผู้คนมีเวลาและกำลังตามปัจจัยทั้งหน้าที่การงานและเงินเดือนรวมทั้งเวลา อาหารจานเดียวแบบของใครของมันตอบโจทย์กว่าและเข้ามาแทนที่สำรับอาหาร
การเรียนรู้เรื่องสำรับยังเป็นการเรียนรู้จากอดีตโดยเอากิจกรรมทางการอาหารมาค่อย ๆ เปิดภาพกัน ตั้งแต่การล้อมวงกินพร้อมหน้ากัน ว่าการแบ่งปันกันนี้สามารถสร้างสังคมที่เข้มแข็ง ช่วงเวลาล้อมวงนี้จึงเป็นทั้งการถ่ายทอดวิถีชีวิตที่มีอาหารเป็นเครื่องมือและความรู้ ตลอดจนภูมิแบบที่จับต้องไม่ได้จะถูกถ่ายทอดระหว่างที่ผู้คนในแต่ละรุ่นมีประสบการณ์ร่วมกัน (Tacit Knowledge) การเลือกสรรอาหารว่าจะตั้งโต๊ะอาหารด้วยอาหารรายการอะไรบ้าง เคยเป็นเรื่องธรรมชาติเพราะทำและกินอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ยกตัวอย่างเช่น ถ้ามีน้ำพริกกะปิจะไม่มีแกงที่ใส่กะปิเด่น ๆ อีก ดังนั้นแล้วบนโต๊ะนี้จะไม่มีแกงเลียงแต่อาจจะมีแกงจืดเพราะไม่อยากให้กลิ่นรสของกะปิซ้ำซ้อนจนเกินพอดี แต่ถ้าอยากให้มีแกงกะทิด้วยจะใช้กะปิไหนหรือเท่าไหร่ แกงกะทินั้นจึงเหมาะสมพอที่จะมาเสริมกันและกันกับน้ำพริก หรือถ้ามีแกงป่าที่เผ็ดร้อนก็มีโอกาสสูงมากที่จะมีห่อหมกทำออกมาซับความเผ็ดร้อน ซึ่งโดยทันทีที่คนทำอาหารจะรู้ว่าห่อหมกของมื้อนี้ต้องทำให้รสและสัมผัสนุ่มนวลพอที่จะปลอบโยนลิ้นที่แสบร้อนจากพริกและสารพัดสมุนไพรของแกงป่า ซึ่งการใช้ใบตองในการทำห่อหมกส่งผลต่อความเป็นเลิศรสนั้นจนไม่ว่าจะเสียเวลาอย่างไรก็ต้องเพียรทำ เรื่องเหล่านี้เคยเป็นภูมิขั้นพื้นฐานของครัวเรือนไทย แต่ยากที่จะหาในปัจจุบัน และเชฟมืออาชีพใดจะสามารถทำได้เสมอไป